การขาดนัดพิจารณา

          ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
          มาตรา 200 "ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา
          ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดอื่นที่มิใช่วันสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นสละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วยแล้ว"

          1. กรณีที่ถือว่าเป็นการขาดนัดพิจารณา

          กรณีที่คู่ความทราบวันนัดสืบพยานแล้วไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและศาลไม่ได้อนุญาตให้เลื่อนคดี ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา แต่อย่างไรก็ตามการขาดนัดพิจารณาอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี เรื่องการขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งหมายความว่า คู่ความที่ขาดนัดยื่นคำให้การแล้วจะไม่มีการขาดนัดพิจารณาอีก และกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดอื่นที่ไม่ใช่วันนัดสืบพยาน ก็ไม่ถือว่าขาดนัดพิจารณา แต่กฎหมายให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นสละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วยแล้ว


          แต่ถ้ามาศาลตามนัดแล้ว ศาลย้ายห้องพิจารณาคดีโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ก็ไม่ขาดนัดพิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2897/2553  ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัดในช่วงเช้าทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาศาลและไปคอยอยู่ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 แต่เนื่องจากคดีนี้ย้ายไปพิจารณาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 จึงไม่พบสำนวนคดีนี้ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ทนายโจทก์จึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ลงเวลานัดพิจารณาคดีผิดพลาดเป็นช่วงบ่าย ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 5 ในช่วงเช้า โดยรออยู่ที่ศาลจนถึงช่วงบ่าย แสดงให้เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์มาศาลตามกำหนดนัดแล้ว แต่เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลเองที่ทำให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายโจทก์ไม่ได้เข้าห้องพิจารณาคดี เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ เป็นการสั่งโดยผิดหลงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเสียได้ตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 27 ให้อำนาจไว้ โดยไม่จำต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ
          วันนัดสืบพยานหมายถึงวันสืบพยานตามมาตรา 1 (10) คือวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานเป็นวันแรกในคดี ซึ่งอาจเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยก็ได้ที่เป็นฝ่ายนำสืบพยานก่อน แม้เป็นวันนัดสืบพยานจำเลยแต่เป็นการสืบพยานนัดแรกของคดี หากโจทก์ไม่มาศาลก็ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2535  การขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง มีความหมายว่า ในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานเป็นวันแรกในคดีนั้นไม่ว่าจะเป็นพยานฝ่ายใดและไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อน หากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนั้นไม่ว่าตนจะมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบในวันนั้นหรือไม่ก็เป็นการขาดนัดพิจารณาปรากฏว่าในวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานโจทก์ครั้งแรก จำเลยที่ 1 มาศาลการที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยครั้งต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา   คู่ความที่จะมีคำขอให้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ได้นั้น จะต้องปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งให้เป็นฝ่ายขาดนัดพิจารณาเสียก่อนเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ดังนี้สิทธิที่จะขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ไม่อาจเกิดขึ้นได้
          วันนัดสืบพยานต้องเป็นวันนัดสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ถ้านัดสืบพยานในการไต่สวนคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก็มิใช่การสืบพยานในประเด็นแห่งคดี จึงไม่ขาดนัดพิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2551   กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 ต้องเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นและขอเฉลี่ยทรัพย์ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องจำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้ได้  เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบและศาลสั่งยกคำร้อง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว
          ผู้รับมอบฉันทะจากจำเลยมาศาล ถือว่าคู่ความฝ่ายจำเลยมาศาลแล้ว จึงไม่ขาดนัดพิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6214/2548  การที่จะถือว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี คำว่า คู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ การที่ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 มาศาลถือว่าคู่ความฝ่ายจำเลยที่ 1 มาศาลแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา และนำเอากระบวนพิจารณาโดยขาดนัดมาใช้บังคับแก่คดี ดังนั้น คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยมิได้ให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสสืบพยานของตน จึงเป็นคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน อีกทั้งการที่ทนายจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากเพิ่งได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นทนายความและทนายความจำเลยที่ 1 ติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 ศาลฎีกามีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) และมาตรา 247 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
          วันนัดสืบพยานต้องเป็นวันที่มีการสืบพยานกันจริง ถ้าวันนั้นศาลงดสืบพยานแล้วพิพากษา ก็ไม่ถือว่าขาดนัดพิจารณาเพราะไม่ได้มีการสืบพยาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2548  วันที่ 8 ตุลาคม 2545 เป็นวันนัดพร้อมมิใช่วันสืบพยาน โจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคสอง ให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วย ส่วนวันที่ 25 ตุลาคม 2545 ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันนัดศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานและได้อ่านคำพิพากษาให้ทนายจำเลยฟัง โดยถือว่าโจทก์ซึ่งมิได้มาศาลได้ฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้ว เมื่อมิได้มีการสืบพยานจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่มีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2547  กรณีที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นเห็นว่าฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้วมีพฤติการณ์ประวิงคดี จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ มิใช่เป็นการพิจารณาโดยขาดนัด จำเลยย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
          แต่ถ้าเป็นวันนัดสืบพยานแม้ศาลจะนัดทำอย่างอื่นด้วย ก็ถือว่าเป็นนัดสืบพยาน ถ้าไม่มาศาลก็ถือว่าขาดนัดพิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2544   ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2543 จำเลยที่ 1 ทราบนัดแล้วไม่มาศาล จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ศาลชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 204 เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนแล้วเสร็จก็ย่อมที่จะมีอำนาจพิพากษาคดีไปเสียทีเดียว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 206 วรรคสาม และวรรคสี่ (1) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มาศาลในวันสืบพยานฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ผิดระเบียบตาม มาตรา 27 ประกอบมาตรา 88 ไม่
          ถ้าวันนัดสืบพยานนั้นศาลเลื่อนออกไป วันนั้นก็ไม่ใช่วันสืบพยาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7380/2543   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (10) "วันสืบพยาน" หมายความว่าวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน โจทก์ยื่นคำฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันให้รับฟ้องและนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2541 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำให้การได้ภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ฉะนั้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นวันสืบพยานโจทก์นัดแรกนั้นแม้โจทก์และพยานโจทก์จะมาศาลก็ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ได้เพราะยังไม่พ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเพื่อรอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้ว หรือเมื่อครบกำหนดเวลายื่นคำให้การหากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ วันที่ 21 กรกฎาคม2541 จึงมิใช่ "วันสืบพยาน" ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้แม้โจทก์จะมิได้ไปศาลในวันดังกล่าวโดยเข้าใจว่าวันนัดคลาดเคลื่อนไปเพราะความผิดพลาดของโจทก์ แต่ก็เป็นคนละเหตุที่จะให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงถูกต้องแล้ว
          แต่งตั้งทนายไว้หลายคน การที่ทนายคนใดลงชื่อทราบนัดแล้วก็ต้องถือว่าคู่ความนั้นทราบนัดแล้ว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5829/2543  แม้ตัวจำเลยหรือทนายจำเลยเพียงคนเดียวลงชื่อทราบวันนัดของศาล ก็ต้องถือว่าตัวจำเลยและทนายจำเลยอีกคนหนึ่งทราบวันนัดของศาลแล้ว การที่ ว. ทนายจำเลยลงชื่อทราบวันนัดของศาล จึงต้องถือว่า พ. ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งทราบวันนัดของศาลด้วยทุกครั้ง ที่จำเลยอ้างว่า ว. เจ็บป่วย พ. ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งก็สามารถที่จะดำเนินคดีแทนได้ ดังนั้น การที่ทนายจำเลยทั้งสองคนไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์จึงเป็นการจงใจขาดนัด และไม่มีเหตุสมควรที่จะให้พิจารณาคดีใหม่

          2. ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          มาตรา  201 "ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ"
         

          3. โจทก์ขาดนัดพิจารณา

          มาตรา  202 "ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว" 

            คดีที่มีฟ้องแย้ง

          (1) โจทก์ไม่มาศาลแต่จำเลยมาศาล ถือว่าคดีตามฟ้องเดิมโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 202 ส่วนคดีตามฟ้องแย้งจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 204
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2536   ในวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีแรงงานนัดแรก ทนายจำเลยมาศาลส่วนโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา แม้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 201 วรรคแรก ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ จำเลยจึงมีฐานะเป็นโจทก์ตามฟ้องแย้งและโจทก์เดิมจึงตกเป็นจำเลยตามฟ้องแย้ง ต้องถือว่าโจทก์ตามฟ้องแย้งมาศาลแล้ว และตาม ป.วิ.พ.มาตรา 202 บัญญัติว่า ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.โดยอนุโลม แม้การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์อันทำให้ไม่มีคำฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวน-พิจารณาต่อไปก็ตาม แต่ก็ยังมีตัวโจทก์ที่ยังคงเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ต่อไปจึงมีคู่ความครบถ้วนทั้งสองฝ่ายที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ดังนี้ การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมด รวมทั้งคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยออกเสียจากสารบบความเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ


          (2) โจทก์มาศาลแต่จำเลยไม่มาศาล ถือว่าตามฟ้องเดิมจำเลยขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 204
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2494  ในกรณีที่จำเลยได้ฟ้องแย้งด้วยนั้น จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องแย้งอีกฐานะหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อจำเลยถูกศาลสั่งว่าขาดนัดพิจารณาก็ย่อมถือได้ว่า จำเลยขาดนัดทั้งสองฐานะ คือทั้งที่เป็นจำเลยและที่เป็นโจทก์ฟ้องแย้ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3778/2549  ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน ในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาย่อมถือได้ว่าจำเลยขาดนัดทั้งสองฐานะ คือทั้งที่เป็นจำเลยและที่เป็นโจทก์ฟ้องแย้งด้วยเมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าโจทก์ในฐานะจำเลยฟ้องแย้งได้ขอดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาคดีในส่วนฟ้องแย้งจึงชอบด้วยกฎหมาย หาใช่ต้องจำหน่ายคดีสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยออกจากสารบบความไม่

            การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา

          เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา หากจำเลยต้องการจะดำเนินคดีต่อไป จำเลยต้องแจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจึงจะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว ถ้าจำเลยไม่แจ้งต่อศาล ศาลก็จะต้องสั่งจำหน่ายคดี
          (1) การแจ้งต่อศาลเป็นหน้าที่ของจำเลย ไม่ใช่หน้าที่ของศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2530   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201(เดิม) มิได้บังคับให้ศาลต้องสอบถามจำเลย เป็นเรื่องที่จำเลยต้องแจ้งต่อศาลว่าตนตั้งใจจะดำเนินการพิจารณาต่อไป จำเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพื่อจะได้มีโอกาสซักค้านพยานโจทก์เป็นคนละกรณีกับการตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป
          (2) จำเลยต้องแจ้งต่อศาลให้เข้าใจว่าต้องการขอให้ศาลดำเนินคดีต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2544  กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 201 วรรคหนึ่ง เดิม จำเลยที่ 2แถลงในวันสืบพยานแต่เพียงว่า "การดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง" เพียงเท่านี้ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งต่อศาลแล้วว่าตนตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลไม่มีหน้าที่ที่จะต้องสอบถามจำเลยที่ 2 เสียก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2545  แม้ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความในวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่สืบก่อน แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้อนุญาตให้ทนายโจทก์ถอนตัวและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในนัดต่อมา การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นชอบที่จะจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ส่วนการที่ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควร ก็มิใช่คำแถลงที่มีความหมายในทางที่จำเลยประสงค์หรือตั้งใจจะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2548  กรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 หากจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ การที่จำเลยที่ 1 แถลงคำคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์เป็นคนละกรณีกับการที่จะให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความจึงชอบแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในคำสั่งจำหน่ายคดีว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้นเป็นการไม่ถูกต้องเพราะกรณีมิใช่เป็นเรื่องทิ้งฟ้องแต่เป็นกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2495   โจทก์รับในเรื่องหน้าที่นำสืบว่า โจทก์จะนำสืบก่อนครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ๆไม่มาศาลตามเวลานัด คงมาแต่ฝ่ายจำเลย จำเลยได้แถลงต่อศาลว่าเมื่อโจทก์ไม่มาศาลขอให้ยกฟ้องชองโจทก์เสีย ดังนี้ ย่อมมีความหมายในทางที่จำเลยประสงค์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามความใน ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา 201 วรรค 2 เพราะเห็นได้ว่าการที่จำเลยขอให้ศาลพิพากษาคดีนั้น ศาลจำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ศาลจะไปสั่งจำหน่ายคดีเสียไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2532  ในวันนัดสืบพยานซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน เมื่อโจทก์ไม่นำพยานมาสืบในวันนัด โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาซึ่งศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีเสียก็ได้ เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน แม้มิได้แถลงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยตั้งใจจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แต่กรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดต่อไปอีก และกระบวนพิจารณาเป็นอันสิ้นสุด ดังนี้ คำแถลงของจำเลยดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยตั้งใจให้ศาลทำการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2532  ในคดีที่ศาลกำหนดหน้าที่นำสืบให้จำเลยนำพยานเข้าสืบก่อนทุกประเด็น การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยนัดแรกโดยโจทก์ได้ทราบวันนัดโดยชอบแล้ว และมิได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแต่ประการใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและดำเนินการสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนไปในวันเดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งให้ศาลทราบโดยปริยายว่าจำเลยได้ขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว จึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 (เดิม) แล้ว

            ผลของการที่จำเลยไม่ได้แจ้งต่อศาลในวันนัดสืบพยาน

          (1) ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
          (2) ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี ไม่ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเพนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา 203 แต่ไม่ห้ามจำเลยอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1591/2542  ป.วิ.พ.มาตรา 201 วรรคหนึ่ง(เดิม) ห้ามโจทก์มิให้อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ขาดนัดพิจารณา การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเป็นการใช้สิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ดังนั้น การที่คดีแพ่งยังไม่ถึงที่สุดเพราะจำเลยอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี ทำให้โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ไม่ได้นั้น จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยขัดขวางไม่ให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่ได้
          (3) เมื่อจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา แม้โจทก์สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ในอายุความ แต่ถ้าฟ้องใหม่ระหว่างที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งอยู่นั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2538  โจทก์เคยฟ้องจำเลยให้ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าทนายความเรื่องเดียวกันกับคดีนี้มาก่อน แต่โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าว คู่ความยังอาจอุทธรณ์คำสั่งได้ และจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 ประกอบด้วยมาตรา 147 วรรคสอง แม้โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ก่อนจำเลยยื่นอุทธรณ์ ก็ต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 (1) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน
          (4) โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอพิจารณาคดีใหม่ เพราะการพิจารณาคดีใหม่จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว แต่เมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงไม่มีการพิจารณาฝ่ายเดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2549  โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 202 กรณีเช่นนี้แม้มาตรา 203 มิได้บัญญัติห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การที่โจทก์จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ สิทธิของโจทก์มีอยู่ทางเดียวคือต้องฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความตามาตรา 203 เท่านั้น
          (5) การที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ขาดนัดพิจารณา ตามมาตรา 151 วรรคสาม ให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจสั่งคืนค่าขึ้นศาลบางส่วนให้แก่โจทก์ได้

            ผลของการที่จำเลยแจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป

          (1) ศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 206 ส่วนการสืบพยานก็ต้องแล้วแต่รูปคดี ถ้าหน้าที่นำสืบอยู่ที่โจทก์ จำเลยอาจจะแถลงไม่สืบพยานก็ได้
          (2) ในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าโจทก์ที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ก่อนศาลพิพากษาได้ตามมาตรา 206 วรรคสาม
          (3) คดีที่ศาลพิจารณาและชี้ขาดคดีไปฝ่ายเดียว ถ้าศาลได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีแล้ว โจทก์จะนำคดีนั้นมาฟ้องให่ไม่ได้ ต้องห้ามในเรื่องฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2541   คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องและพิสูจน์ถึงสิทธิของโจทก์ในการครอบครองที่ดินพิพาทในคดีนี้อีกได้ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ

          4. จำเลยขาดนัดพิจารณา

          มาตรา  204 "ถ้าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว"
          การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีที่จำเลยขาดนัดพิจารณา
          ในคดีที่จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 204 ศาลจะสั่งหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างอื่นไม่ได้
          (1) โจทก์มีหน้าที่นำพยานมาสืบตามประเด็นข้อพิพาท
          (2) ในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าจำเลยที่ขาดนัดพิจารณามาศาลในระหว่างนั้น จำเลยมีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 206 วรรคสาม นอกจากนี้จำเลยมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ในระหว่างสืบพยานได้ และถ้ามาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ จำเลยก็มีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบได้ตามมาตรา 206 วรรคสี่ (1)(2)
          (3) ถ้าศาลสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยที่ขาดนัดพิจารณายังไม่มาศาล ศาลมีอำนาจพิพากษาคดีได้ทันทีตามมาตรา 133
          (4) เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี จำเลยมีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 ตรี

          5.ขั้นตอนการสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่มีการขาดนัดพิจารณา

          (1) ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 206 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8740/2543  ในคดีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งขาดนัดนั้น คู่ความฝ่ายที่ไม่ขาดนัดจะชนะคดีได้ต่อเมื่อได้นำสืบพยานหลักฐานต่อศาลจนเป็นที่พอใจว่าข้ออ้างของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันโดยอ้างเอกสารทั้งสองฉบับเป็นพยานเอกสารสนับสนุนข้ออ้าง การจะรับฟังพยานเอกสารทั้งสองฉบับได้ โจทก์ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 คือต้องปิดแสตมป์บนเอกสารให้บริบูรณ์เสียก่อน มิเช่นนั้นจะใช้เอกสารทั้งสองฉบับเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ เมื่อสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญโจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2548  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้กู้ยืมและจำนองเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวนแน่นอน เมื่อจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน จำเลยจึงขาดนัดพิจารณาซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 206 วรรคสอง ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้
          (2) ศาลพิจารณาโดยสืบพยานไปฝ่ายเดียวลับหลังคู่ความที่ไม่มาศาลได้ หากสืบพยานเสร็จแล้วคู่ความที่ขาดนัดพิจารณายังไม่มาศาล ถือว่าคดีเสร็จการพิจารณาและศาลพิพากษาคดีในวันนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2544   ศาลมีคำสั่งนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 13 กันยายน 2543 จำเลยที่ 1 ทราบนัดแล้วไม่มาศาล จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 200 วรรคหนึ่ง ศาลชอบที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 204 เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จนแล้วเสร็จก็ย่อมที่จะมีอำนาจพิพากษาคดีไปเสียทีเดียว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 206 วรรคสาม และวรรคสี่ (1) ที่ให้สิทธิแก่คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณานำพยานเข้าสืบได้หากมาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้มาศาลในวันสืบพยานฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนั้นจึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ผิดระเบียบตาม มาตรา 27 ประกอบมาตรา 88 ไม่
          (3) ระหว่างการสืบพยาน หากคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลตามมมาตรา 206 วรรคสาม คู่ความฝ่ายนั้นมีสิทธิคัดค้านหรือถามค้านพยานที่ยังสืบไม่เสร็จได้ตามมาตรา 206 วรรคสี่ (2) และมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ถ้ามาศาลยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 860/2536  ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในรายละเอียดว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์จำเลย หรือจำเลยร่วม แต่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ที่วินิจฉัยดังกล่าวเพราะอาศัยพยานเอกสารในสำนวน ถือว่าศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยชี้ขาดตรงประเด็นแล้ว การที่จำเลยขาดนัดพิจารณาไม่มาศาลย่อมทำให้เสียประโยชน์คือ ไม่มีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ที่สืบไปแล้วในวันที่จำเลยไม่มาศาลเท่านั้น และหากว่าโจทก์สืบพยานหมดในวันนั้น จำเลยก็ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบได้ในวันหลังอีก เพราะหมดเวลาที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบแล้ว แต่คดีนี้โจทก์นำพยานเข้าสืบในวันนัดแรกเพียงปากเดียวการสืบพยานยังไม่เสร็จบริบูรณ์ แล้วเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ที่เหลือในนัดต่อไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิถามค้านพยานปากที่เบิกความไปแล้วเท่านั้นส่วนในนัดต่อไปจำเลยมาศาล จำเลยชอบที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่เบิกความในนัดต่อมาได้ และนำพยานจำเลยเข้าเบิกความได้ เพราะยังไม่พ้นเวลาที่จะนำพยานของตนเข้าสืบ แม้จำเลยร่วมไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานโจทก์ 3 วันแต่จำเลยร่วมว่าความด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจให้จำเลยร่วมนำพยานเข้าสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)

          6. การขอให้พิจารณาคดีใหม่

          คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาโดยไม่จงใจหรือมีเหตุผลอันสมควร มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ใน 2 กรณี
          (1) การขอให้พิจารณาคดีใหม่ก่อนศาลพิพากษา ตามมาตรา 206 วรรคสาม
          (2) การขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ตามมาตรา 207
          ทั้งสองกรณีนี้ คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว

            (1) การขอให้พิจารณาคดีใหม่ก่อนศาลพิพากษา

          มาตรา 206 วรรคสาม "ในระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว ถ้าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณามาศาลภายหลังที่เริ่มต้นสืบพยานไปบ้างแล้ว และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดีเมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรและศาลไม่เคยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของคู่ความฝ่ายนั้นมาก่อนตามมาตรา 199 ตรี ซึ่งให้นำมาใช้บังคับกับการขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 207 ด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ในกรณีเช่นนี้ หากคู่ความนั้นขาดนัดพิจารณาอีก จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรานี้ไม่ได้"
          การขอให้พิจารณาคดีใหม่ก่อนศาลพิพากษามีหลักเกณฑ์ 4 ประการ
          1) คู่ความที่ขาดนัดพิจารณามาศาลระหว่างการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว
          2) แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะดำเนินคดี
          3) การขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร
          4) คู่ความผู้ขอจะต้องมิใช่ผู้เคยขาดนัดพิจารณามาแล้วหรือศาลเคยสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 207 มาแล้ว

            (2) การขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี

          มาตรา 207  "เมื่อศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาแพ้คดี ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และคู่ความฝ่ายนั้นอาจมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้  ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 ตรี มาตรา 199 จัตวา และมาตรา 199 เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
          การขอให้พิจารณาใหม่ภายหลังศาลพิพากษามีหลักเกณฑ์ 4 ประการ
          1) เป็นคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดและแพ้คดี
          2) ต้องไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ให้ตนแพ้คดี
          3) การขาดนัดพิจารณานั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร
          4) ต้องมิใช่คู่ความที่ต้องห้ามิให้ขอให้พิจารณาคดีใหม่