คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

          คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

         
          ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (มาตรา 7 พรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ)

          การฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย (มาตรา 8 พรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ)

          การฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดที่เกี่ยวข้องกัน และบางกรรมไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ (มาตรา 9 พรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ)

          เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา (มาตรา 10 พรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ)

          ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด (มาตรา 11 พรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ)

          ความหมายของคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

          คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่คดีดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะมีข้อหาหรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกันรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม
          (1) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ
          (2) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดตาม (1) หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
          (3) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น
          (4) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
          (5) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตาม (1) ถึง (4) ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้สมคบ
          (6) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
          (7) คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
          (8) กรณีที่มีการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องขอตาม (1) ถึง (7)
          อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวข้างต้นมิให้รวมถึง
          (1) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
          (2) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
          (ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙)

          วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

          วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ใช้ระบบไต่สวน และเป็นไปโดยรวดเร็ว ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้และข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 6 วรรหนึ่ง พรบ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ)

          ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

          ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย
          (1) อัยการสูงสุด กรณีที่สำนวนการไต่สวนที่มาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยอัยการสูงสุดจะมอบอำนาจให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีแทนอัยการสูงสุด
          (2) พนักงานอัยการ กรณีสำนวนการไต่สวนที่รับมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือพนักงานสอบสวน
          (3) ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ฟ้องอัยการสูงสุดเป็นจำเลย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 95
          (4) คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนและคำวินิจฉัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะฟ้องคดีได้
          (5) ผู้เสียหาย กรณีเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย และเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดนั้น 
 
          ทั้งนี้ หากกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเอง ก็ให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน (มาตรา 16 แห่ง พรบ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559)

          เขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

         (1) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร สำหรับคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตกรุงเทพมหานครจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก็ได้ แต่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจไม่รับไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559
          (2) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสระบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
          (3) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว
          (4) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
          (5) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี
          (6) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน
          (7) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
          (8) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงคราม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร
          (9) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี
          (10) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสตูล
          สำหรับคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย กฎหมายให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ถ้ามีการสอบสวนในท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคใดให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย ตามมาตรา 5 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559