การดำเนินคดีอาญาในศาลแขวง

          พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง 
   
          มาตรา 7  "ในการสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
          ในกรณีที่ไม่มีการจับแต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมกับสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาได้รับแจ้งข้อหา แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย
          ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลให้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าวในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสามคราว ในการวินิจฉัยคำร้องเช่นว่านี้ ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานมาเบิกความประกอบก็ได้
          เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสามคราวแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะอนุญาตตามขอนั้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ถ้ามีการขอให้ขังผู้ต้องหาด้วยหรือผู้ต้องหาแสดงตัวต่อศาล ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้คราวละไม่เกินหกวัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสองคราว
          ผู้ต้องหาจะแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยานก็ได้
          ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หากผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนต่อไปโดยเร็ว และถ้าการสอบสวนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งต่อไป โดยให้นำมาตรา 141 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ระยะเวลาการขอผัดฟ้องตามมาตรานี้ได้สิ้นสุดลงในระหว่างที่ผู้ต้องหาหลบหนี และพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการอาจขออนุญาตฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดตามมาตรา 9 ไว้ก่อนก็ได้"



          แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่เรื่องถูกจับกุมตัว ก็ไม่จำเป็นต้องผัดฟ้องตามมาตรา 7
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2511  จำเลยถูกจำคุกในคดีอื่น แล้วถูกสอบสวนในคดีนี้ถือว่าการสอบสวนคดีนี้ยังไม่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด จึงไม่ต้องมีการผัดฟ้องตามมาตรา 7 แม้อัยการจะเคยขอผัดฟ้องมาแล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2522  คดีที่ไม่มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาก็ไม่มีความจำเป็นต้องผัดฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2514  เมื่อตำรวจจับจำเลยได้แล้วนำตัวมาส่งให้พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาและไม่ได้ควบคุมตัวไว้ให้ประกันตัวไปเพียงแต่นัดให้จำเลยมาสถานีตำรวจในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น พฤติการณ์ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ถูกจับตามกฎหมาย

          อายัดตัวในคดีอื่นไว้แล้ว ต้องถือว่าจับผู้ต้องหาแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2541 คดีนี้ผู้ร้องจะได้ขออายัดตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนคดีอื่นแล้วในวันเดียวกันผู้ร้องยังได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบปากคำให้การไว้ด้วย กรณีจึงหาใช่กรณีอายัดตัวเพียงอย่างเดียวแต่ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้จับผู้ต้องหาแล้ว

          อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ย่อมถือว่าจับกุมตัวแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2450/2527 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนแล้วส่งตัวให้อัยการ อัยการสั่งปล่อยชั่วคราวในวันเดียวกันพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่ามีการจับกุมแล้วในวันที่จำเลยมอบตัว

          นิติบุคคลโดยสภาพแล้วจับกุมไม่ได้ จึงไม่ต้องผัดฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2522  อัยการฟ้องบริษัทจำกัด เป็นจำเลยต่อศาลแขวงไม่ได้มีการจับกุมตัวจำเลย เพราะว่าไม่อยู่ในสภาพที่จะจับได้จึงไม่ต้องผัดฟ้องตามมาตรา 7

          ถ้ามีหลายข้อหา ฟ้องข้อหาหนักต่อศาลจังหวัด ก็ไม่ต้องผัดฟ้องตามมาตรา 7
          คำพิพาษาศาลฎีกาที่ 3042/2532 (ป.) ถ้ามีหลายข้อหา ข้อหาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงไปฟ้องในศาลจังหวัดพร้อมกับข้อหาที่หนักกว่าข้อหาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงก็ไม่ต้องมาผัดฟ้อง คือไม่อยู่ในบังคับมาตรา 3, 4
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3298/2532 แม้เป็นความผิดหลายกรรม แต่ได้กระทำลงโดยผู้กระทำความผิดคนเดียว แต่เป็นความผิดที่เกี่ยวพันกันจึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน โจทก์จะฟ้องทุกคดีต่อศาลที่มีอำนาจในความผิดที่มีอัตราโทษสูงกว่าได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/3537 แม้ชั้นแรกพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดอุดรธานี แต่เมื่อศาลปล่อยตัวจำเลยแล้ว ต่อมาพนักงานสอบสวนได้สอบสวนและแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ผิด ป.อ.มาตรา 276 กรณีย่อมถือว่าจำเลยเพิ่งถูกจับในข้อหาของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงตั้งแต่วันแจ้งข้อหา เมื่อพนักงานสอบสวนส่งตัวจำเลยต่ออัยการและอัยการได้ขอผัดฟ้องและฟ้องจำเลย เป็นคดีนี้ภายในกำหนดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 7 วรรค 2 จึงไม่มีเหตุที่จะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดก่อนฟ้อง

          มาตรา 7 ทวิ  "ในกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีจากการควบคุมหรือการขัง มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีนั้นเข้าในกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7
          ในกรณีที่ได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดียังศาลทหารหรือศาลคดีเด็กและเยาวชน หากปรากฏในภายหลังว่าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารหรือศาลคดีเด็กและเยาวชน ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารหรือตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน แล้วแต่กรณี และมีการส่งตัวผู้ต้องหามายังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในศาลแขวงต่อไปนั้น มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือขังอยู่ตามกฎหมายดังกล่าวนั้นเข้าในกำหนดระยะเวลาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 7"

          กรณีที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังแล้ว ต่อมาผู้ต้องหาหลบหนีก็ใช้หลักเดียวกันคือไม่นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหลบหนีรวมเข้าไปด้วย
          ระหว่างที่ผู้ต้องหาหลบหนี กฎหมายไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนี ฉะนั้นจึงไม่ต้องมาขอผัดฟ้อง เว้นแต่เป็นกรณีผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะต้องมาขอผัดฟ้องจนกว่าจะครบ 5 คราว ถ้าครบแล้วยังไม่ได้ตัวมาเวลาจะฟ้องต้องไปขออนุญาตอัยการสูงสุดก่อนจึงจะฟ้องได้ (เพราะการปล่อยตัวชั่วคราวแสดงได้ว่ามิได้ถูกควบคุมตัว เมื่อไม่ถูกควบคุมตัวก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ มาตรา 7 ทวิ)

          มาตรา 8  "ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้นั้น การควบคุมตัวผู้ต้องหาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่ากำหนดเวลาดังกล่าวในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มิได้
          ถ้าผู้ต้องหาอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี นำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลพร้อมกับการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง และขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ แต่ถ้าผู้ต้องหาป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่อาจนำมาศาลได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการขออนุญาตศาลรวมมาในคำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหา โดยมีพยานหลักฐานประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลในเหตุที่ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหามาศาลได้ ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้อง ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องนั้น
          ในกรณีที่ผู้ต้องหาตกอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลในโอกาสแรกที่จะส่งได้เพื่อขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
          คำขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาจะขอรวมมาในคำร้องขอผัดฟ้องก็ได้ ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามเดิมก็ได้ กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปอยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเกินกว่าเวลาที่กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้มิได้
          ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังตามมาตรา 134 วรรคห้า แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ และให้นำมาตรา 7 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง แต่ถ้าการขอให้ออกหมายขังดังกล่าวกระทำภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาได้เท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง
          บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งอำนาจของศาลที่จะสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราว"

          การขออำนาจศาลขังตามมาตรา 8 นี้อาศัยมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
           
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2539 พนักงานตำรวจจับจำเลยได้ 28 พฤศจิกายน 2537 และพนักงานสอบสวนอนุญาตให้จำเลยประกันตัวภายในวันเดียวกัน ต่อมาอัยการขอผัดฟ้องโดยไม่ได้ตัวจำเลยส่งศาลในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 แม้ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้นำตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้วเพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล เมื่อโจทก์ไม่นำตัวจำเลยมาศาลคดีจึงขาดอายุความ

          มาตรา 9  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการผู้มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาค ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมาย ทั้งนี้ ให้พนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้อัยการสูงสุดทราบด้วย
          การขออนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของอัยการสูงสุด"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2526 โจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลให้ผัดฟ้องจำเลยได้แต่ไม่ฟ้องในระยะเวลาที่ขอผัดฟ้องไว้ต่อมาได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด (อสส.) ให้ฟ้องได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2520 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องโดยโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง


          มาตรา 12  "ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขัง แล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
          ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
          บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาหรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา โดยอนุโลม"

          มาตรา 19  "ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่ถ้าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นสมควร จะสั่งให้ฟ้องเป็นหนังสือก็ได้
          การฟ้องด้วยวาจานั้น ให้โจทก์แจ้งต่อศาลถึงชื่อโจทก์ ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
          จำเลยจะให้การด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
          ในกรณีที่ฟ้องหรือให้การด้วยวาจา ให้ศาลบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐาน และให้คู่ความลงชื่อไว้
          คำเบิกความของพยาน ให้ศาลบันทึกสารสำคัญโดยย่อ และให้พยานลงชื่อไว้"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 442/2505  ศาลได้บันทึกคำฟ้องรับสารภาพและทำคำพิพากษาไว้ในบันทึกฉบับเดียวกัน บันทึกของศาลนี้ไม่เป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2530 การฟ้องคดีด้วยวาจาอัยการจะต้องมาศาลด้วยทุกครั้ง ถ้าไม่มายังถือไม่ได้ว่า โจทก์มาฟ้องจำเลยด้วยวาจาต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2129/2532 การฟ้องคดีด้วยวาจา กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เคร่งครัดเหมือนฟ้องด้วยลายลักษณ์อักษรแต่ต้องมีรายละเอียดพอสมควร ให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว

          มาตรา 20  "ในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการหรือสั่งให้ผู้ต้องหาไปพบพนักงานอัยการในกรณีที่ผู้ต้องหามิได้ถูกควบคุมตัวเพื่อฟ้องศาลโดยมิต้องทำการสอบสวน และให้ฟ้องด้วยวาจา ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่าจะให้การประการใด และถ้าผู้ต้องหายังให้การรับสารภาพ ให้ศาลบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และทำคำพิพากษาในบันทึกฉบับเดียวกัน แล้วให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ในบันทึกนั้น ถ้าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธให้ศาลสั่งให้พนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหาคืนเพื่อดำเนินการต่อไป"

          ถ้าให้การภาคเสธไม่ถือว่าเป็นการรับสารภาพตลอดข้อหา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2541  ก่อนศาลจะถามคำให้การจำเลย ต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ.ด้วย เช่นถามเรื่องทนายตามมาตรา 173 ถ้าไม่ปฏิบัติถือว่าการพิจารณาไม่ชอบ

          กรณีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

          มาตรา 22  "ในคดีอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
          (1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก หรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
          (2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
          (3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้หรือ
          (4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท"

          มาตรา 22 ทวิ  "ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป"