การจับและหมายจับ

          การจับกุมบุคคลนั้น พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะมีอำนาจจับกุมได้ตามหมายจับของศาลเท่านั้น ยกเว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 78, 79 และ 80 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา  57  วรรคหนึ่ง "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 92 และมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลสำหรับการนั้น"
          มาตรา 78 "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
          (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา  80
          (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
          (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
          (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117"

          เหตุแห่งการออกหมายจับ
          มาตรา 66  "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
          (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
          (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
          ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี"

          สำหรับข้อยกเว้นที่ให้อำนาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้น ได้แก่ กรณีตามมาตรา 78 (1) ถึง (4) กล่าวคือ
          (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
          (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
          (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
          (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117

          ความผิดซึ่งหน้าตามมาตรา 80 
          มาตรา  80 "ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
          อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดั่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดั่งนี้
          (1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่งผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
          (2) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น"

          กรณีเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558  เจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2554  หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจรับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายที่พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551  ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยนั้น จำเลยกำลังขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลย ซึ่งมีลูกค้ากำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านของจำเลย ดังนี้ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยจึงหาใช่เป็นที่รโหฐานไม่ แต่เป็นที่สาธารณสถานเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) การตรวจค้นและจับกุมจึงชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2544   นายดาบตำรวจ ว. กับพวกเห็นจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เมื่อเข้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยก็พบเมทแอมเฟตามีนอีก 1 เม็ด การกระทำของนายดาบตำรวจ ว. กับพวกกระทำต่อเนื่องกัน เมื่อพบเห็นจำเลยจำหน่าย และมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 จึงมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2863/2522  ตำรวจไปกับผู้ที่นำไปซื้อน้ำมันที่ปั๊มเชลล์ โดยข้อหาว่าเอาน้ำมันอื่นมาขาย  ได้เห็นการขายน้ำมันนั้นต่อหน้า  ตำรวจจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ  การกระทำผิดซึ่งหน้าไม่จำต้องเป็นความผิดที่ตำรวจไปพบโดยบังเอิญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2516  (ประชุมใหญ่)     คืนเกิดเหตุมีการลักลอบเล่นการพนันกันบนบ้านผู้มีชื่ออันเป็นที่รโหฐาน  ผู้เสียหายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่ไม่ใช่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ได้รับคำสั่งให้ไปจับกุม จึงพากันไปยังบ้านที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีหมายจับหรือหมายค้นไปด้วยไปถึงได้แอบดูเห็นคนหลายคนกำลังเล่นการพนันกันอยู่กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำลง อันเป็นความผิดซึ่งหน้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80
          ขณะเกิดเหตุนั้นมีคนบนเรือนประมาณ 50 คน ทั้งที่กำลังเล่นและมิได้เล่นการพนัน  ถ้าปล่อยให้เนิ่นช้าไปโดยไม่จับทันทีก็อาจจับผู้กระทำความผิดไม่ได้เลย เพราะปนเปกันอยู่มากทั้งบรรดาพยานหลักฐานต่างๆ ก็อาจสูญหายหรือถูกทำลายไปหมดจึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง ผู้เสียหายกับพวกจึงมีอำนาจเข้าไป (ค้น)ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 (2) ประกอบด้วยมาตรา 92 (2) และมีอำนาจจับผู้กระทำความผิด โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80และมาตรา 81 (1)

          สำหรับกรณีที่ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานจะจับกุมได้ต้องมีหมายจับของศาลมาด้วยเท่านั้น ถ้าจับโดยไม่มีหมายจับ เท่ากับไม่มีอำนาจจับ เป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550   บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ.อ. หรือเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2531   จำเลยทั้งสี่ตรวจพบสุรากลั่นจำนวน 14 ขวด มีแรงแอลกอฮอล์สูงกว่าสุราที่ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ว่าเป็นสุราที่ซื้อมาจาก ล. ตัวแทนจำหน่ายสุราในอำเภอจักราช ดังนี้ ไม่ใช่ความผิดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นโจทก์กำลังกระทำหรือพบในอาการซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าโจทก์กระทำผิดมาแล้วสด ๆ จึงไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับโจทก์ได้โดยไม่มีหมายจับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3743/2529   การที่เจ้าพนักงานค้นพบของกลางที่บริเวณบ้านจำเลยได้แก่ภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต สอบถามแล้วจำเลยรับว่าของกลางเป็นของตน ไม่ใช่ความผิดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นจำเลยกำลังกระทำหรือพบในอาการซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่ากระทำความผิดมาแล้วสดๆ จึงไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับจำเลยได้โดยไม่มีหมายจับ เมื่อเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมก็ไม่มีความผิด