12 พ.ย. 2559

คดีอาญา โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในอายุความ

          อายุความ
          มาตรา  95 "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
          (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
          (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
          (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
          (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
          (5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
          ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน"
          มาตรา  96 "ภายใต้บังคับมาตรา  95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ"




          อัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2539  ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีกำหนดอายุความฟ้องร้อง 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95(3)จำเลยกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2527ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2537 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัวไป วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 พนักงานอัยการขอผัดฟ้อง โดยไม่ได้นำตัวจำเลยส่งศาล แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผัดฟ้องได้ ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว เพราะไม่มีการส่งมอบตัวจำเลยต่อศาล โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและวันสุดท้ายของอายุความ 10 ปี คือวันที่ 3 ธันวาคม 2537 โจทก์ก็มิได้ตัวจำเลยมาส่งศาล จึงขาดอายุความฟ้องร้อง

          ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2514 (ประชุมใหญ่)  ในคดีอาญาถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยอายุความจึงจะหยุดนับ แต่ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลแม้จะยื่นฟ้องแล้วอายุความก็ยังคงเดินอยู่  ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปเสียก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าจำเลยเป็นผู้อยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป

          ความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 95  ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2538   จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์ แต่ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ในเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่จำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกไม่ใช่เป็นความผิดต่อเนื่อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 บทเดียว หาเป็นความผิดตามมาตรา 365 (3) อีกบทหนึ่งไม่ ซึ่งมาตรา 366 บัญญัติว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ อายุความฟ้องร้องตามมาตรา 95  ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 96 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดมิฉะนั้นขาดอายุความ โจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ทั้งๆที่ทราบเรื่องจำเลยบุกรุกตั้งแต่ต้นปี 2526 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม.อ.มาตรา 96

          อายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2538  อัตราโทษในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อหาหรือฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง มิฉะนั้นอาจเป็นการขยายอายุความฟ้องคดี ซึ่งเป็นโทษต่อจำเลย

          อายุความเริ่มนับแต่วันกระทำความผิด ไม่สนว่าโจทก์จะได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2537   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 และ 268 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2513 และ 15 มีนาคม 2520 โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันกระทำความผิดทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 โจทก์จึงไม่ได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3)  
          ตามคำขอรังวัดเปลี่ยน น.ส.3 เป็น น.ส.3 ก. ที่จำเลยยื่นต่อนายอำเภอโดยลงชื่อจำเลยเป็นผู้ขอและมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานมิใช่เอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานที่จำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความลงในเอกสารนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 ดังนั้นการที่จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ตามคำขอของจำเลยดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 267 ไปคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

          แต่อายุความร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2532  อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวเมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

          ราษฎรเป็นโจกท์ฟ้องจำเลยภายในอายุความ ปรากฏว่าในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องคดีขาดอายุความ ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2528   ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 นั้น ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว อายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติตามมาตรานี้ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจกท์ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2514 ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดมายังศาลภายในวันที่ 30 มีนาคม 2524 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ 30 มีนาคม 2524 แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับศาลชั้นต้นสั่งคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดีและได้ตัวจำเลยมาพิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 เกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2514 ประชุมใหญ่)